Code of Conduct

จริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เลค คอมมูนิเคชั่น จำกัด เป็นการประมวลแบบแผน ขอบเขตมาตรฐานความประพฤติ และพฤติกรรมที่พนักงานทุกคนของบริษัท พึงใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในวิถีทางเดียวกัน

1. การเคารพกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นให้พนักงานทุกคนเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น พร้อมทั้งการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย และมาตรฐานสากล โดยบริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติต่อพนักงาน บริษัทย่อย และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทอย่างเป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการรักษาสิทธิมนุษยชนของพนักงานตามที่กฎหมายแรงงาน และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม

แนวปฏิบัติ

ให้ความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างในทางกาย จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ ภาษา อายุ สีผิว การศึกษา สถานะทางสังคม และการให้สิทธิเท่าเทียมต่อคนพิการ

  1. ดูแล รักษาข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน ไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นส่วนบุคคลสู่สาธารณชน ก่อนได้รับความเห็นชอบจากผู้นั้น
  2. ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ
    ให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน
  3. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  4. ผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของบริษัท จะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และอาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

2. นโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

การดำเนินธุรกิจของบริษัท ย่อมเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า หน่วยราชการ ตลอดจน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทจึงได้จัดทำ “นโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย” เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น ซึ่งได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

3. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทกำหนดให้มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม และให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ จะไม่มีการเรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือ คนรู้จักในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้ง บริษัทจัดทำนโยบาย และขั้นตอนการรับข้อร้องเรียน แจ้งเบาะแส และมาตรการคุ้มครอง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารให้กับบริษัท โดยนโยบายทั้งสองได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

ดำเนินการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ดังนี้

– แจ้งผ่านช่องทางกล่องแสดงความคิดเห็นของบริษัท ณ จุดบริเวณทางเดินเข้า-ออก ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และโรงงาน

– แจ้งผ่านช่องทางอีเมลล์ของ “ฝ่ายตรวจสอบภายใน” มาที่ อีเมล์: [email protected]

– จดหมายปิดผนึก และจ่าหน้าซองถึง “ฝ่ายตรวจสอบภายใน” มายัง

ที่อยู่: บริษัท เลค คอมมูนิเคชั่น จำกัด

688/99-100 ศุภาลัยปาร์ค ศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. 10250

4. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องยึดถือประโยชน์สูงสุดของบริษัท ภายใต้ความถูกต้องของกฎหมาย และจริยธรรมโดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะส่งผลกระทบในการตัดสินใจใดๆต่อบริษัท ดังนั้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานควรพิจารณาแนวทางในการปฏิบัติในนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การรักษาความลับ การใช้ข้อมูลภายใน และการดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

5. การรักษาความลับ การใช้ข้อมูลภายใน และการดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัท

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการนำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตน และการให้ข้อมูลข่าวสารต่อบุคคลภายนอกอันจะนำมาซึ่งผลเสียหายที่จะเกิดต่อธุรกิจ และชื่อเสียงของบริษัท กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทมีหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการเก็บรักษาข้อมูลภายในบริษัทไว้เป็นความลับ โดยได้จัดทำนโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติในนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การรักษาความลับ การใช้ข้อมูลภายใน และการดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

6. การเปิดเผย และการสื่อสารข้อมูล

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทควรเปิดเผยข้อมูล และสื่อสารข้อมูลของบริษัทด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เท่าเทียมกัน และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การสื่อสารทางการตลาดภายใต้ตราสินค้าของบริษัท และการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะต้องกระทำด้วยความเหมาะสม ถูกต้องตามความเป็นจริง

แนวปฏิบัติ

  1. การเปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลกระทบใดๆ ต่อบริษัท หรือผู้มีส่วนได้เสีย ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจในเรื่องนั้นๆ
  2. การเปิดเผยข้อมูลจะต้องระมัดระวังมิให้เกิดผลกระทบต่อบริษัท หรือผู้มีส่วนได้เสีย
  3. ห้ามใช้วิธีการสื่อสารทางการตลาดที่เป็นการเปรียบเทียบโดยตรงกับสินค้า หรือบริการของคู่แข่ง
  4. ไม่นำเสนอสิ่งที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ การเมือง ความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความคิดเห็นเรื่องเพศ หรือเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงาม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  5. ในกรณีที่พบข้อมูล ข่าวสารที่กล่าวพาดพิงถึงบริษัท หรือการปฏิบัติที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อตราสินค้าของบริษัทอย่างไม่เหมาะสม ให้รีบแจ้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือผู้บังคับบัญชาทันที 

7.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน โดยบริษัทส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงานทุกคนรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทให้มีความสะอาด เป็นระเบียบ และปลอดภัย

แนวปฏิบัติ

  1. บริษัทจะดำเนินการเพื่อควบคุม และป้องกันการสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย และความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย
  2. บริษัทจะดำเนินการด้านความปลอดภัยทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิต และสุขภาพอนามัยของพนักงาน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่ทรัพย์สินของบริษัท
  3. บริษัทถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานทุกคนในการรายงานการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอน หรือ กระบวนการต่างๆอย่างเคร่งครัด
  4. ผู้บริหารและพนักงานต้องดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างมีระบบ และถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ป้องกันการสูญเสีย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร
  5. ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย นโยบาย กฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรฐานการปฏิบัติงานของบริษัท ว่าด้วยความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

บริษัทจะทบทวนและประเมินระบบการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัยเป็นระยะๆ เพื่อนำมาวางแผนในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง